‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ หนังตีแผ่สังคมไทย ที่ ‘ลืมไม่ลง’
.
ภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือ มากมายหลายร้อยชื่อหรือหลักพันต่างเคยผ่านตาเรามา แต่เชื่อว่าด้วยความทรงจำ ความตราตรึง ซาบซึ้งใจ จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ทำให้เหลือเพียงไม่กี่ชื่อในบทสนทนายามที่ถูกถามว่า หนังเรื่องไหน เพลงอะไร วรรณกรรมเล่มไหน ทำให้เรา ‘เติบโตหรือก้าวผ่าน’
.
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ออกฉายครั้งแรก พ.ศ. 2544 กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง ถือเป็นหนังไทยที่พูดถึงความเป็นไทยได้อย่างเฉียบคมที่สุดเรื่องหนึ่ง ไม่เพียงแต่หนัง ในส่วนที่เป็นวรรณกรรมไทยฝีมือของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนจากเมืองลพบุรี ยังทำได้กรีดเฉือนหัวใจคนอ่าน คุณผู้อ่านพอจะเห็นตามกับเราไหมว่า เมื่อหยิบมนต์รักทรานซิสเตอร์มาดูอีกครั้งในวันนี้ จะให้สายตาที่มองเห็นปัญหาภาพใหญ่ของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้น เรื่องช่องว่างระหว่างสังคมเมืองและชนบท มันอธิบายได้อย่างแยบคายว่าทำไมในเดือนเมษายนนี้ ถนนทุกสายจากกทม. มีคนนับล้านมุ่งหน้ากลับไปหาไออุ่นที่บ้านในช่วงเวลาสั้น ๆ และในรอบสัปดาห์นั่นเอง ถนนสายเดียวกันก็พาพวกเขาบ่ายหน้ากลับมายังกรุงเทพเมืองฟ้าอมร เพราะว่าตลอดหลายสิบปีด้วยกันที่กรุงเทพฯ เป็นภาพใหญ่ที่ครอบคนไทยว่า ‘ที่มีคือความเจริญ’
.
วิทยุทรานซิสเตอร์ครั้งหนึ่งเคยกระจายเสียงจากส่วนกลางของประเทศ ตอกย้ำว่าที่นี่คือเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางของความฝัน คนหนุ่มสาวจำนวนมากจากต่างจังหวัดทิ้งความอุดมสมบูรณ์ของท้องทุ่งในบ้านเกิดมาพบกับความแร้นแค้น เร่งรีบ แข่งขันของคนเมือง มาเรียน มาทำงาน มาอุดอู้ที่นี่เพื่อจะมีความฝันอันสวยงาม เรื่องนี้ผ่ากลางตีแสกหน้าสังคมไทยหลาย ๆ ประเด็น เป็นเอก รัตนเรือง กำกับหนังเรื่องนี้ในปีที่เขาอายุ 39 หนังมีความเมโลดราม่าอย่างถึงที่สุด มีบทเพลงที่แสนไพเราะอย่าง ‘ลืมไม่ลง’ (สุรพล สมบัติเจริญ) มีภาพการดิ้นรนที่ดูแล้วสะท้อนสะเทือนใจในชะตากรรมของ ‘ไอ้แผน’ ตลอด 128 นาที ยั่วยวนให้คิดถึงความลักลั่นสารพัดรูปแบบที่เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ ปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ทำสัมภาษณ์ใหญ่ผู้กำกับรสจัดรายนี้ไว้ เชื่อว่ามันก็ยังอยู่ในความทรงจำผู้อ่านเช่นกัน ทั้งความจัดเจนและการสบถคำว่า ‘เหี้_’ อย่างสุภาพพวกนั้น
.
#Songtopia