เรื่องเล่าจากปกอัลบั้ม ‘เอกเขนก’ เฉลียง
.
เอกเขนก ถือเป็นผลงานสตูดิโออัลบั้มลำดับที่สาม ของวงเฉลียง ออกวางจำหน่ายในปี 2530 กับค่ายคีตาแผ่นเสียงและเทป (คีตา เรคคอร์ดส และ คีตา เอนเตอร์เทนเมนท์) เอกเขนก นับเป็นผลงานเพลงในช่วงบุกเบิกของค่ายคีตาอย่างแท้จริง มีเพลงเพราะ ๆ มากมาย เช่น ‘นิทานหิ่งห้อย’, ‘เพลงที่เหลือ’ หรือ ’แค่มี’ โดยอัลบั้มชุดนี้สมาชิกวงทั้ง 5 คนรับบทบาทหน้าที่เขียนเนื้อร้อง ทำนอง และร้องกันทุกคน
.
ย้อนกลับไป อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เฉลียงถูกพูดถึงอย่างมากในยุคนั้นนั่นก็คือ ตัวปกอัลบั้มชุดนี้ เฉลียง ได้ออกแบบในสไตล์ที่เราอาจเรียกได้ว่ามินิมัลในสมัยนี้ ซึ่งทำออกมาได้ดีจนถูกยกให้เป็นปกอัลบั้มที่ดีที่สุดปกหนึ่งในวงการเพลงไทย
.
แม้คนสมัยนี้มองย้อนกลับไปอาจจะคิดว่ามันเป็นการออกแบบที่แสนจะเรียบง่าย จนออกไปทางไม่มีอะไรแลย แต่ปกอัลบั้ม เอกเขนก ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดที่ต้องใช้ความหาญกล้าอย่างมาก
.
เอกเขนก ถูกออกแบบให้ลบคนออกไปทั้งหมด ซึ่งต่างกับอัลบั้มชุดที่สอง ‘อื่น ๆ อีกมากมาย’ ที่ปกชุดนั้นจะเป็นภาพสมาชิกทั้งห้ายืนอยู่ในปก
.
เฉลียง เคยเล่าที่มาของความว่างเปล่านี้ว่า ตั้งใจให้ตัวปกไม่มีภาพเหล่าสมาชิกมากวนตา พวกเขาต้องการความสวยงาม ความเรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และแฝงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ นอกจากนี้ใต้คำว่าเฉลียง ยังมีภาพของเฉลียงที่วางล้อกับคำว่าเฉลียงอีกด้วย
.
ผลงานการออกแบบชิ้นนี้เป็นฝีมือของ พิเศษ ไทยานันท์ ซึ่งปกชิ้นนี้ให้ได้รับคำชมอย่างมากในเรื่องของการฉีกกฎเดิม ๆ เพราะต้องยอมรับว่าในยุค 80-90s ภาพที่เราเห็นในปกต่าง ๆ มักจะเป็นภาพของศิลปินยืนอยู่ในนั้นประกอบกับฟอนต์สีสด ๆ ซึ่งการหลีกหนีข้อจำกัดเดิม ๆ ของเฉลียงก็ทำให้ปกชิ้นนี้ได้รับรางวัล B.A.D.Awards ประเภท Packaging ดีเด่นจากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ
.
#Songtopia