ปี 2023 ที่ผ่านมา เป็นปีที่นักฟังเพลงชาวไทยถูก “ย้ำ” ซ้ำๆ ถึงอิทธิพลของเพลงป็อปยุค 90 ของ RS ผ่านคอนเทนต์ และคอนเสิร์ตใหญ่ต่างๆ ที่มาแทบจะเดือนเว้นเดือนของค่าย และภายใต้โปรเจกต์ Grammy RS ไปจนถึงการเปิดตัวของ BRIQ Entertainment และศิลปินเลือดใหม่พร้อมเพลงโหมโรงอย่าง “เปิดดิ (D-Day)” ซึ่งทำให้เราอดไม่ได้ที่จะเล่าความร้อนแรงของเพลงแดนซ์ RS ที่ตลอดเวลามากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา
ในยุค 90 หลังความสำเร็จของวงดนตรี และโปรเจกต์อย่าง รวมดาว ค่าย RS ในเวลานั้นที่เพิ่งย้ายมา อาคารเชษฐโชติศักดิ์ ซอยลาดพร้าว 15 จนได้รับฉายาว่า “ค่ายลาดพร้าว” ได้เริ่มผลักดันศิลปินแนวป็อปแดนซ์เข้าสู่วงการ ไม่ว่าจะเป็น ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ที่ฉีกภาพป็อปร็อคอัลบั้มแรก สู่การเป็นศิลปินเท้าไฟ และตามด้วยแก๊งแดนเซอร์ที่ร้องเพลงได้จนกลายเป็นอีกตำนานยุค 90 อย่าง Hi-Jack ที่มีเพลงอย่าง “เล่นเจ็บเจ็บ”, “ขอเต้น”, “ไฟตกน้ำ” ที่บอกเลยว่าโปรดักชั่นกับลีลาไม่ธรรมดา และขณะเดียวกัน เต๋า สมชาย ก็มาพร้อมลุคหัวโจก พร้อมปกป้องทุกคนแบบ “บอดี้การ์ด” ขณะที่ นุ๊ก สุทธิดา คู่ขวัญของเต๋าและเจ้าของวลี “เราไม่ได้รักใครง่ายๆ อย่างที่นายคิดนะ” ก็มีเพลง “เป็นอันสลบ” และ “ถอนสายบัว” ที่มากับดนตรีย่อยง่าย เนื้อหาน่ารัก ท่าเต้นจำง่าย จนทุกคนร้องตามเต้นตามได้ง่ายดาย
และเมื่อเราได้รู้จักศิลปินป็อปยุคแรก เราก็เริ่มได้เห็นศิลปินป็อปที่มีภาพลักษณ์แตกต่างจากรุ่นพี่ ทั้งคู่หูหนุ่มหล่ออารมณ์ดี ลิฟท์-ออย ที่อัลบั้ม 2 ปังสุดๆ กับเพลง “ดูมั้ย” และ “แอบมีเธอ” ตามด้วย Raptor ที่หลังจากโปรเจกต์ Super Teen และอัลบั้มแรกที่มีเพลง “Super Hero” ก็กลายเป็นดูโอ้ล้านตลับ จากนั้นเราก็ได้เห็นดูโอ้เด่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งคู่หูต่างวัย JR-Voy ที่แจ้งเกิดจากเพลงน่ารักๆ และมีเพลงตามมาอีกเยอะ “Only You”, “เด็กเจ้าปัญหา”, “Ziggaza” และ “Love Potion No.9” และพี่น้อง ราฟฟี่ แนนซี่ ที่พาทุกคนท่องจักรวาลความสนุกพวกเขาด้วย “UFO” และ “Shock-Ga-Doof” แถมยังมีเพลงช้าเพราะๆ อีกมาก ส่วนแซนด์-แบงค์ พี่น้องเอเชียนลุค แม้มีอัลบั้มเดียวแต่เพลงเร็ว “อะไร…ว้า” ก็น่าจดจำไม่แพ้เพลงอื่นๆ ของค่าย
ทางฝั่งศิลปินเดี่ยวนั้น แม้ว่า โดม ปกรณ์ ลัม และ เจมส์ เรืองศักดิ์ จะแจ้งเกิดเต็มตัวเพราะเพลงช้า แต่ทั้งสองก็มีเพลงแดนซ์เท่ๆ ในคลังเยอะมาก ทั้ง “ดีมากเลย” ที่ทำด้วยกัน ส่วนเจมส์ก็มี “Siren Love”, “ข้าวมันไก่” และ “ชั๊บ… ชั๊บ… ชั๊บ” และโดมก็มีเพลง “หน้ากาก”, “HEY! อันตราย” มาจนถึง “ผ่าเหล่า” ที่เจ้าตัวลงมือโปรดิวซ์เอง ส่วนฝั่งสาวๆ ก็มี ปุ๊กกี้ ปริศนา นอกจากเพลง “SHA-LA-LA-LA” ก็มี “Z เลย” อีกเพลงที่เท่สุดๆ และ โมเม ที่แจ้งเกิดสวยงามกับ “กระดุ๊กกระดิ๊ก” หรือ เอิร์น จิรวรรณ ที่มีเพลงน่ารักๆ อย่าง “อ๊ะ อ๊ะ อาย” และฝั่งศิลปินเดี่ยวที่มีเพลงเร็วเป็นโลโก้อย่าง อนัน อันวา ก็มีแฟนๆ ที่ชอบเพลง “Ding Dong” กับ “ตะลึง” และเพลงเร็วในสต๊อกของเขาอีกเพียบ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ไวตามิน เอ เพราะนอกจากจะมี “หลุดโลก” แล้ว เพลง “มองนานๆ” ของเขาได้กลับมาฟื้นคืนชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีในปี 2023 จนมีกระแสไปถึงประเทศจีนหลังนางเอกซูเปอร์สตาร์ จ้าวลู่ซือ ขอนำเวอร์ชันใหม่มาเต้น!
และนอกจากดูโอ้ และศิลปินเดี่ยว ฝั่งบอยแบนด์ก็มี Giant ที่ “รสปูอัด” ฮิตทันที และหลังจากนั้นก็มีวงบอยกรุ๊ปหลากเชื้อชาติหรือมีเมมเบอร์ต่างชาติตามมาอีกหลายวงทั้ง K-OTIC, X I S และปฐมบทวงที่ไม่ได้จำกัดเพศเดียว อย่าง Bazoo ที่นอกจากผลงานอย่าง “โธ่เอ๊ย”, “ทำไมถึงทำกับฉันได้”, “ผีฟ้าปาร์ตี้”, “มันไม่จริง” “Cheer” และ “ลำตัด 2001” ยังมีวงที่ตามรอยอย่าง 3.2.1 พร้อมผลงานเพลงฮิต “แค่ที่รัก”, “รักต้องเปิด(แน่นอก)” และ “มีอีกมั้ย”
ค่าย RS ยุค 90 เรียกได้ว่าเป็นตัวท็อปในตลาดเพลงแดนซ์และเพลงวัยรุ่น เพราะทางค่ายได้ส่งผลงานเพลงที่เหมาะสมกับผู้ฟัง ทั้งดนตรีและเนื้อหาที่ตรงใจวัยเด็กและวัยรุ่นในวันนั้น แต่ผู้ใหญ่ก็ยังสนุกไปด้วยได้ พร้อมทั้งท่าเต้นที่เป็นเอกลักษณ์ แถมศิลปินที่ค่ายหามาก็ต้องชมเลยว่า “ตาถึงจริงๆ” เพราะนอกจากดังในวันนั้นแล้ว หลายคนก็ยังคงมีชื่อเสียงในวันนี้ และอีกเรื่องที่เราต้องชมก็คือ หลายๆ ศิลปิน RS ตอนเริ่มต้นนั้นไม่มีพื้นฐานการร้องเพลง แต่ทีมงานก็ผลักดันจนแจ้งเกิดได้ อย่างเช่น โดม ที่ต้องเรียนอย่างเร่งด่วนกว่าจะมีอัลบั้ม หรือ 2 แสบ Raptor ที่นอกจากซนแล้ว ในวันที่เข้ามาฝึกนั้นยังอ่านภาษาไทยไม่ออกด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายโปรดิวเซอร์อย่างพี่เสือ ธนพล ก็ทำให้พวกเขากลายเป็นดูโอ้ล้านตลับในที่สุด
นอกจากเพลงป็อปแดนซ์สนุกสนานแล้ว ศิลปินแทบทุกคนก็มีเพลงช้าที่เป็นโลโก้ตัวเอง และยังได้รับโจทย์ที่ท้าทายความสามารถตัวเองเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการคัฟเวอร์เพลงสากลในอัลบั้ม Day Shock ของ Raptor และชุด Wowderful! ของปุ๊กกี้ ขณะที่ โดม ปกรณ์ ลัม ก็ได้ดันบาร์ดนตรีป็อปไทย สู่เทคโนแดนซ์ที่สุดโต่งจนตัวเองถึงจุดที่โปรดิวซ์อัลบั้มสุดท้ายกับค่ายด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันโปรเจกต์ Mission 4 Project ก็เป็นอีกหนึ่งงานชิ้นดีที่ทำให้หลายคนทึ่งและฉงนกับมุมนักดนตรีของ วอย-จอนนี่-เจมส์-โดม ซึ่งการมีโปรเจกต์สุดโต่งแบบนี้ออกมา ทำให้การตามศิลปิน RS เป็นอะไรที่โคตรสนุก เพราะเราไม่รู้จะได้เห็นอะไรจากพวกเขาอีก
แม้ว่าศิลปินดังของ RS แทบทุกเบอร์จะมีอัลบั้มใหม่แทบทุกปี แต่ทางค่ายก็ได้ต่อยอดความสำเร็จเดี่ยวๆ ของแต่ละคนผ่านโปรเจกต์ Super Teen, The Next, The X-Venture และโปรเจกต์เพลงช้าอย่าง Zodiac รวมถึงงานคอนเสิร์ต RS Meeting ที่ทำให้เกิดการคอลแลปส์จนเกิดเคมีใหม่ๆ ความรู้สึกเป็นแฟมิลี่ที่ทำให้เรารักศิลปินยกค่าย หรือการเป็น “แสตนค่าย” และตัวค่ายยังต่อยอดจักรวาลความป็อปด้วยนิตยสาร RS STAR CLUB ที่ทำเอาหลายคนขอสมัครสมาชิก และยังมีการทำคาเฟ่ศิลปิน RS ที่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จตอนนั้น แต่ก็จัดว่าเป็นธุรกิจที่มาก่อนกาล เพราะในปัจจุบันหลายๆ วงไอดอลในเอเชียได้มีคาเฟ่และร้านคาเฟ่ธีมศิลปินเหมือนกัน จนเราอดไม่ได้ที่จะชื่นชมวิสัยทัศน์ของค่ายในตอนนั้น!
อีกมุมหนึ่งนอกจากดนตรีแล้ว RS ก็ใส่ใจในภาพลักษณ์ของศิลปิน เพราะนอกจากเพลงแล้ว ทุกๆ คนมีการแต่งตัว และความชัดเจนเรื่องอิมเมจ ไม่ว่าจะ เต๋า สมชาย กับลุคหัวโจก ลิฟท์-ออย กับรองเท้าบู๊ทและเสื้อเอวลอย เสื้อผ้าสีสดใสกับสเก็ตบอร์ดของหนุ่มๆ RAPTOR ส่วนฝั่งสาวๆ เอง ก็มีเสื้อผ้าหน้าผมที่น่าจดจำทั้งนุ๊ก, ปุ๊กกี้, โมเม หรือแม้แต่ นาตาลี-แจ๊สกี้ ที่นอกจากจะมีเพลง “STRAWBERRY” แล้ว พวกเธอก็ได้สร้างกระแสกิ๊บและสปริงติดผมจนเป็นที่พูดถึง เรียกได้ว่าทุกคนมาพร้อมภาพจำที่ชัดเจน และนอกจากภาพรวมของงานเพลง งานแสดงของศิลปินยังทำให้พวกเขาได้เข้าสู่ความเป็นสตาร์ชัดเจน หลายคนมีงานแสดงที่เป็นโลโก้ตัวเองอย่างเช่น ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง กับ รองต๊ะแล่บแปล๊บ และเต๋า สมชาย-นุ๊ก สุทธิดา กับ โลกทั้งใบให้นายคนเดียว เรียกได้ว่านอกจากเพลงดังแล้ว คนก็ดังมาก!
เมื่อตัดภาพมาเข้าสู่ปี 2000 และกระแสเพลงป็อปแดนซ์เริ่มถูกเพลงป็อปร็อคเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดแมส แต่ RS ก็ไม่หยุดความตั้งใจในการทำเพลงเต้น เพราะเรายังได้เห็นบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป อย่าง D2B, Girly Berry ไปจนถึง B-MIX และ โฟร์-มด กับ Neko Jump ที่ได้รับความสนใจตั้งแต่อัลบั้มแรก ซึ่งนอกจาก D2B ที่แฟนคลับเหนียวแน่น และ Girly Berry ที่ฮอตจนทอล์กออฟเดอะทาวน์ทุกปี ปี 2007 การเข้ามาของอารยธรรม Kamikaze ก็ทำให้ค่ายได้ยึดตลาดเพลงป็อปวัยรุ่นอีกครั้ง และในยุคนั้นก็แทบจะไม่มีค่ายอื่นที่มาเป็นคู่แข่งตรงๆ ของ RS ได้ชัดเจน โดย Kamikaze นั้นยังมี DNA หลายอย่างของ RS ยุค 90 ทั้งเพลงและดนตรีป็อปที่ฟังไม่เก่า คอนเซ็ปต์ชัดเจนในลุค และการต่อยอดศิลปินผ่านโปรเจกต์เพลงใหม่ๆ ไปจนถึงงานแสดง และบทบาทคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เรียกได้ว่าโมเดลในอดีต ก็ยังใช้ได้ในยุค 2000 แม้เครื่องมือจะเปลี่ยนไปบ้าง
เมื่อเข้าสู่ยุคโซเชียล แม้เราจะได้เห็น RS ออกไปทำงานธุรกิจอื่น แต่พวกเขาก็ยังสร้างปรากฎการณ์ร้อยล้านวิวผ่านผลงานเพลงอย่าง “รักต้องเปิด (แน่นอก)” ของ 3.2.1 และ ใบเตย อาร์สยาม เพลง “ชู้ทางไลน์” ของ ธามไท แพลงศิลป์ และ กระแต อาร์สยาม รวมไปถึงเพลง “อย่ามโน” ของ ใบเตย และ กิ๊บซี่ Girly Berry และเพลงที่เป็นแนวทีป็อปชัดเจนแบบไร้กลิ่นลูกทุ่งอย่าง “ที่ระทึก” และ “เตือนแล้วนะ” ของ เติร์ด ลภัส หนุ่มน้อยร้อยล้านวิวของ Kamikaze ขณะที่ฝั่งเด็กน้อยร้อยล้านวิวอย่าง แต๊งกิ้ว ศิลป์ชนก ที่มีเพลงร้อยล้านวิวอย่าง “Thank You for Your Love” และ “ไปไหนไปกัน (Following)” ก่อนที่จะหันมาทำเพลงลูกทุ่งแดนซ์ออกมาต่อเนื่องกับค่ายอาร์สยาม และในปี 2023 ค่าย BRIQ Entertainment ที่รวมศิลปินทีป็อปรุ่นใหม่ก็ได้เปิดตัวยิ่งใหญ่ และพร้อมจะสร้างเซอร์ไพรส์ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป!
แต่ก่อนที่เราจะได้สัมผัสความเจ๋งของเด็กเจนใหม่ของ RS นั้น ล่าสุดก็มีงาน RS MEETING CONCERT 2024. DANCE MARATHON 2 ยกกำลังเต้น ที่ทางค่ายได้พา Raptor, ลิฟต์ออย, เต๋า, ทัช, เจมส์, โดม, วอย JR-Voy, BoyScout, Bazoo, อนัน อันวา, ไวตามิน เอ และตัวแทนยุค 2000 อย่าง Girly Berry มาปรากฎตัวในจักรวาล RS MEETING ครั้งแรก และยังมีตัวละครลับที่ยังไม่เปิดเผยอีก แต่เราเชื่อว่าเท่าที่ประกาศมาก็น่าจะทำให้เก้าอี้กลายเป็นแค่ที่วางของสำหรับคนดูแล้ว!
#Songtopia #DANCEMARATHON #RSMEETINGCONCERT2024 #RSMEETING #โตมากับอาร์เอส