หลายปีก่อน หลาย ๆ คนคงจะจำภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Shindo ที่เข้ามาสร้างกระแสความนิยมในบ้านเรากันได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เสียงเพลงจากเปียโนของ โยฮันน์เซบาสเตียน บาค มาเป็นเพลงประกอบในเรื่อง ซึ่งเรียกน้ำตาจากคนดูได้ไม่น้อยเลยทีเดียว จริง ๆ แล้วยังมีภาพยนตร์อีกหลายต่อหลายเรื่อง ที่นำเอาเสียงเปียโนมาเป็นดนตรีประกอบเนื้อเรื่อง ว่ากันว่าเสียงเปียโนนั้นเป็นเสียงดนตรีที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และสามารถสร้างจินตนาการและเรียกอารมณ์ของผู้ฟังให้คล้อยตามได้เป็นอย่างดี
เปียโน เป็นเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ ที่สร้างเสียงเมื่อคีย์ถูกกดและกลไกภายในเครื่องตีสาย คำว่า Piano เป็นคำย่อของคำว่า ปีอาโนฟอร์เต้ (Pianoforte) ออกเสียงว่า ปี-อา-โน-ฟอ-เต้ ซึ่งเป็นภาษาอิตาลี แปลว่า ‘เบา ดัง’ นั่นคือมาจากความสามารถของเครื่องเปียโน ที่จะปรับความดัง เบา ตามแรงกดของผู้เล่นที่กดลงบนคีย์ของเปียโนนั่นเอง
หนึ่งในเปียโนที่เราจะนึกถึงกันมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น เปียโนยามาฮ่า (Yamaha) จากประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งโดย โทราคุสุ ยามาฮ่า (Torakusu Yamaha) ในปี ค.ศ. 1887 ที่หลงใหลในเสียงดนตรี จนได้สร้างสรรค์เปียโนขึ้นมา และเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ยามาฮ่า ที่แตกตัวสินค้าออกไปอีกหลายประเภทในเวลาต่อมา
ย้อนกลับไปในปี 1887 ยามาฮ่า ผู้หลงใหลในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตะวันตก ขึ้นชื่อว่าเป็นนักซ่อมที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในโอซาก้า! เขาซ่อมได้ตั้งแต่นาฬิกา ยันเครื่องมือแพทย์ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ครูใหญ่ของโรงเรียนประถมศึกษาต้องการให้เขาซ่อมออร์แกนตัวหนึ่งที่เสียงเพี้ยนจนไม่เหลือสภาพเดิม แน่นอนว่าด้วยความอยากรู้อยากลองก็ทำให้ ยามาฮ่า ไม่รอช้าตบปากรับคำ
เขาเริ่มต้นจากการสร้างพิมพ์เขียวภายในออร์แกน เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างของการเกิดเสียง อีกทั้งยามาฮ่าที่ไม่มีความรู้เรื่องดนตรีเลย ก็เริ่มศึกษาทฤษฎีดนตรี และการปรับแต่งเสียงเปียโน ออร์แกน ซึ่งตลอดระยะเวลาสี่เดือน เขาเสพย์ติดการซ่อมออร์แกนหลังนี้ถึงขนาดตื่นมาซ่อมตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงดึกดื่น จนในที่สุดเขาก็สามารถซ่อมออร์แกนหลังนี้ได้สำเร็จ ยามาฮ่ากลายเป็นนักสร้างและซ่อมเครื่องดนตรีภายในระยะเวลาเพียงสั้น ๆ หลังจากที่เขาซ่อมออร์แกนหลังแรกสำเร็จ ด้วยความหลงใหลในเสียงเปียโนอยู่แล้ว เขาจึงหันไปสร้างเปียโนซึ่งเป็นก้าวแรกสู่การกำเนิดแบรนด์ยามาฮ่านั่นเอง
สิ่งที่ทำให้เปียโนของยามาฮ่าเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก เห็นจะเป็นการได้รับรางวัลเปียโนยอดเยี่ยม ‘Honorary Grand Prize’ จากงาน St.Louis World’s Fair ในปี 1904 นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อเสียงของเปียโนจากญี่ปุ่นหลังนี้ดังไปทั่วโลก
ปัจจุบันยามาฮ่าเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมไปถึงซอฟต์แวร์และเครื่องมือที่เกี่ยวกับการบันทึกเสียงในห้องอัด กระนั้น การผลิตเปียโนก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์และภาพลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของยามาฮ่า เพราะการผลิตเปียโนที่ดีสักหลังต้องอาศัยทั้งความประณีตในทุกขั้นตอน และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ปัจจุบันยามาฮ่าผลิตเปียโนทั้งแบบแกรนด์เปียโน แบบอัพไรท์เปียโน และเปียโนสมัยใหม่ที่เรียกว่า Hybrid Piano ออกมามากกว่า 50 รุ่น
DID YOU KNOW?
เปียโน เป็นเครื่องดนตรีอีกชิ้นหนึ่งที่มีราคาแพงเป็นอันดับต้น ๆ ของเครื่องดนตรีนำเข้าทั้งหมด อันเนื่องจากกระบวนการในการผลิตประกอบกับอัตราภาษีนำเข้าที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการขอรับพิจารณาส่งเสริมจากภาครัฐ จึงเป็นผลให้ราคาที่จำหน่ายมีราคาสูงไปด้วยเช่นกัน
#Songtopia